ภาวะพร่องฮอร์โมน เพศชาย (Hypogonadism) เป็นอาการที่ไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด แต่จะค่อยๆเพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ จนคุณผู้ชายหลายคนไม่ได้สังเกตเห็น พออาการเริ่มมากเข้าก็คิดว่าเป็นเพราะวัยที่เริ่มร่วงโรยไป รู้สึกชินกับอาการดังกล่าว ทำให้ไม่ได้เดือดร้อนถึงขนาดต้องหาที่ปรึกษา
สมาคมที่ศึกษาเกี่ยวกับผู้ชายสูงวัย (The International Society for The Study of Aging Male หรือ ISSAM) ได้ให้คำจำกัดความของ ภาวะพร่องฮอร์โมน เพศชาย ไว้ว่า เป็นภาวะที่การทำงานของระบบการสร้างฮอร์โมนเพศชาย (Gonadal Function) เริ่มลดลง จนกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเสื่อมของร่างกาย (Aging Process) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจ คล้ายกับในผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน
รู้ได้อย่างไร ว่าเข้าข่าย “ภาวะพร่องฮอร์โมน”
โดยปกติฮอร์โมนเพศชายจะเริ่มลดลงเมื่ออายุประมาณ 50 ปี แต่สำหรับผู้ชายที่ไม่ค่อยดูแลตัวเอง ใช้ชีวิตอย่างหนักหน่วง ขาดการพักผ่อนต่อเนื่อง อาจมีปัญหาได้ตั้งแต่อายุ 40 – 45 ปี โดยสังเกตได้จากสัญญาณเตือนเบื้องต้น ดังนี้
ด้านระบบประสาทและจิตใจ ได้แก่ หลงลืม สมาธิความจำสั้น หงุดหงุดง่าย กระสับกระส่าย วิตกกังวล
ด้านร่างกาย มีอาการร้อนวูบวาบ ปวดตามข้อ ปวดเมื่อยตามร่างกายทั้งๆที่ไม่ได้มีกิจกรรมหนัก ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง เคยแบกของเป็นกิโลๆ ตอนนี้ยกอะไรแทบไม่มีเรี่ยวแรง เหนื่อยหน่ายไม่อยากจะทำอะไร อ่อนเพลีย หนังตาจะปิดโดยเฉพาะหลังทานอาหาร
ด้านเพศ โดยหนวดเคราจะขึ้นช้าลง อารมณ์ทางเพศเริ่มลดลงไปจนขาดความสนใจในกิจกรรมทางเพศ การแข็งตัวของอวัยวะลดลง
ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการตรวจจากแพทย์ เพราะการวินิจฉัยจากอาการอย่างเดียวไม่เพียงพอต้องมีการประเมินจากแบบสอบถามและตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ อ่านเพิ่มเติม